การบินไทยเร่งดีลสินเชื่อ 2.5 หมื่นล้าน ยื่นเงื่อนไขแลกรับหนี้เก่าเร็วขึ้น

“การบินไทย” เร่งดีลยื่นขอสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาท จ่ายคืนภายใน 6 ปี ยื่นเงื่อนไขได้รับหนี้ก้อนเดิมคืนเร็วขึ้น งัดหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นที่ดิน สนง.ใหญ่วิภาวดี 30 ไร่ อสังหาริมทรัพย์ใน-ต่างประเทศ เครื่องบินปลดระวาง 42 ลำ ยืนยันรับสินเชื่อก้อนแรก มี.ค.นี้

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการโรดโชว์เพื่อขอสินเชื่อใหม่จากเจ้าหนี้ วงเงิน 25,000 ล้านบาท โดยระหว่างเดือน ธ.ค.2564 การบินไทยได้จัดทำข้อเสนอสำหรับสถาบันการเงิน เรื่องการขอวงเงินสินเชื่อเงินกู้ระยะยาว (Term Loan) และวงเงินสินเชื่อใหม่หมุนเวียน (Revolving Credit Facilities) รวมทั้งทำข้อเสนอสำหรับสหกรณ์ที่เป็นกลุ่มเจ้าหนี้หุ้นกู้

รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ความสำเร็จของแผนฟื้นฟูการบินไทยตามแผนจะต้องได้รับการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อใหม่ 50,000 ล้านบาท จากภาครัฐและเอกชน แต่จากการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา การบินไทยลดค่าใช้จ่ายและบริหารต้นทุนได้ดี อีกทั้งยังมีรายได้จากการดำเนินงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องแม้ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ ส่งผลให้ล่าสุดการบินไทยได้ประเมินทางการเงินและวิเคราะห์การได้รับการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ที่เหมาะสมและผลักดันให้แผนฟื้นฟูการบินไทยสำเร็จ โดยจำเป็นต้องจัดหาวงเงินสินเชื่อใหม่ลดลงมาเหลือ 25,000 ล้านบาท ซึ่งจัดหาจากภาคเอกชนและถ้าได้รับวงเงินดังกล่าวจะเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจจนออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้

นอกจากนี้ การบินไทยได้ทำการเจรจาสถาบันการเงินเอกชนที่เป็นเจ้าหนี้ รวมทั้งเจรจากับสหกรณ์เจ้าหนี้หุ้นกู้การบินไทย 87 แห่ง ที่เป็นเจ้าหนี้การบินไทยรวม 45,000 ล้านบาท

รวมทั้งข้อเสนอสำหรับสถาบันการเงินเรื่องการขอวงเงินสินเชื่อกู้ระยะยาวและวงเงินสินเชื่อใหม่หมุนเวียนที่การบินไทยเสนอให้กับเจ้าหนี้ ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยในลักษณะการชำระดอกเบี้ยรายไตรมาส และชำระวันทำการสุดท้ายของงวดดอกเบี้ย โดยนำเอา

หลักประกันเพื่อค้ำประกันการกู้ 4 ส่วน ประกอบด้วย

  1. ที่ดินและอาคารสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
  2. ที่ดินและอาคารจำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่สำนักงานดอนเมือง
  3. อะไหล่อากาศยานและเครื่องยนต์
  4. อากาศยานและเครื่องยนต์รอการขาย และ 5.อสังหาริมทรัพย์รอการขายทั้งในและต่างประเทศ

ใช้คืนเงินกู้ภายใน 6 ปี

รวมทั้งการจัดหาสินเชื่อใหม่จำนวน 25,000 ล้านบาท ที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนนั้น ในแผนฟื้นฟูการบินไทยได้ระบุถึงเงื่อนไขของสินเชื่อใหม่ส่วนนี้ มีกรอบการพิจารณา ประกอบด้วย

1.อัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินต้องไม่เกินกว่าอัตรา MLR ต่อปี 2.ระยะเวลาขอสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระคืนเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เบิกใช้สินเชื่อใหม่ครั้งแรก โดยชำระเป็นรายครึ่งปี

3.ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อใหม่ตลอดจนเงื่อนไขอื่นๆ ให้เป็นตามที่ผู้บริการแผนจะได้บรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ที่ให้สินเชื่อใหม่

4.เจ้าหนี้ที่ให้สินเชื่อใหม่ในส่วนนี้จะได้รับสิทธิในการซื้อหุ้นตามสัญญาการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวนเดียวกันกับจำนวนหนี้สินเชื่อใหม่ที่การบินไทยเบิกใช้จริง โดยสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนกำหนดให้สามารถซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยมูลค่าที่ตราไว้ 10 บาทต่อหุ้นในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

เงื่อนไขได้รับหนี้คืนเร็วขึ้น

นอกจากนี้ เงื่อนไขที่การบินไทยยื่นขอสินเชื่อใหม่จะเป็นหนี้ที่มีหลักประกันเต็มจำนวน โดยเจ้าหนี้มีโอกาสได้รับชำระหนี้เดิมเร็วกว่ากำหนดตามแผนฟื้นฟูหรือมีระยะเวลาการรับชำระหนี้ลดลง ซึ่งจะทำให้ได้รับการชำระก่อนกลุ่มที่ไม่ลงสินเชื่อใหม่ และได้รับสิทธิในการแปลงหนี้เดิมให้เป็นทุน โดยถ้าหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ อาจทำให้ผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ประโยชน์จาก Capital Gain ของราคาหุ้นที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ เจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์ 87 แห่ง รอการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ที่จะอนุมัติให้สหกรณ์ให้เข้าไปลงทุนในการบินไทยได้จากเดิมที่กำหนดให้ลงทุนในรัฐวิสาหกิจเท่านั้น

ทรัพย์สินหลักที่ดิน “สนง.ใหญ่”

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า สินทรัพย์ที่การบินไทยจะนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะที่ดินสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต พื้นที่ 30 ไร่ ติดถนนวิภาวดีรังสิตและเป็นแถวลึกเข้าไปติดกับตลาดลุงเพิ่ม เบื้องต้นประเมินมูลค่าสินทรัพย์นี้ราว 7 หมื่นล้านบาท เป็นที่ดิน อาคารและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งปัจจุบันการบินไทยกระชับพื้นที่สำนักงาน จัดใช้เพื่อบริหารองค์กรการบินไทยส่วนใหญ่ในอาคาร 5 พร้อมนำอาคารอื่นมาเปิดให้เช่า

ส่วนสินทรัพย์อื่นที่จะนำมาค้ำประกันนั้น มีการประเมินมูลค่าในรายงานผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงิน ระบุถึงสินทรัพย์ งบการเงินเฉพาะส่วนของการบินไทย ณ วันที่ 30 ก.ย.2564 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 166,130 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธ.ค.2563 จำนวน 43,359 ล้านบาท หรือราว 20.7% โดยมีสาเหตุหลักมากสินทรัพย์หมุนเวียนประเภทที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ มีจำนวนลดลง จากการลงนามซื้อขาย รวมมูลค่า 628 ล้านบาท แบ่งเป็น ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ 415 ล้านบาท ขายทรัพย์สินที่อู่ตะเภา 204 ล้านบาท และขายที่ดินเปล่าที่จังหวัดเชียงใหม่ 9 ล้านบาท อีกทั้งยังมีที่ดินและอาคารสำนักงานหลานหลวงและภูเก็ต ที่ได้ทำสัญญาจำซื้อจะขายให้กับผู้ซื้อไปแล้ว ในมูลค่า 593 ล้านบาท

สำหรับสินทรัพย์ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 การบินไทยถือครองอยู่รวมมูลค่า 36,775 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22.5% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งลดลงจาก 31 ธ.ค.2563 เป็นจำนวน 5,352 ล้านบาท หรือราว 12.7% จากสาเหตุหลักในการโอนที่ดินและอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ที่ดินเปล่าเชียงใหม่ ที่ดินและอาคารสำนักงานหลานหลวงและภูเก็ต รวมไปถึงเครื่องยนต์ CFM56 จำนวน 5 เครื่อง มูลค่า 19 ล้านบาท ที่ได้มีการตกลงซื้อขายแล้ว

เครื่องบินเก่ารอขาย 42 ลำ

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชนเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า การหาเงินทุนก้อนใหม่ที่จะได้จากทางเอกชนจำเป็นต้องใช้หลักประกัน โดยปัจจุบันการบินไทยมีอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถเอาไปเป็นหลักประกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินเก่า 42 ลำที่ปลดระวางรอทำการขาย นอกจากนี้ยังมีอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ โดยเฉพาะที่ดินสำนักงานใหญ่วิภาวดี พื้นที่ประมาณ 30 ไร่ และอสังหาในต่างประเทศ ลอนดอน ฮ่องกง ดังนั้นการบินไทยจะเอาทรัพย์สินที่เหลืออยู่นี้ไปค้ำประกัน

ส่วนกรณีที่การบินไทยจะนำทรัพย์สินไปค้ำประกัน อาจทำให้เจ้าหนี้รายเก่าไม่พอใจนั้น การบินไทยขอชี้แจงว่าในช่วงที่ผ่านมาคณะผู้บริหารแผน ได้หารือร่วมกับกรรมการเจ้าหนี้มาโดยตลอด รายงานให้ทราบถึงการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟู มีการประชุมร่วมกันทุกเดือน และการจะเอาหลักทรัพย์ไปค้ำประกัน เพื่อได้เงินใหม่เข้ามา ก็เป็นเรื่องดีกับเจ้าหนี้ทุกราย

สำหรับความคืบหน้าของการกู้เงินจากสถาบันทางการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เดิม คาดว่าจะได้รับเงินทุนก้อนใหม่ภายในไตรมาส 1 ปี 2565 โดยจะได้รับสินเชื่อใหม่งวดแรกในเดือน มี.ค.2565 และวงเงินกู้ 25,000 ล้านบาท ถือว่าเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจตามแผนฟื้นฟู เนื่องจากสถานการณ์ด้านการบินในขณะนี้เริ่มดีขึ้น ผลประกอบการ การบินไทยสามารถลดค่าใช้จ่าย และมีแผนหารายได้อย่างชัดเจน

ที่มา : Bangkokbizmews

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
Facebook
Twitter
LinkedIn