ธปท. ชี้! เหตุผลที่ทุนสำรองไทยลดลงไปกว่า 1.3 ล้านล้านและเรื่องดอลลาร์แข็งค่า!!

 

หลังจากเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565 กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท. ได้มีการตอบคำถามกับสื่อมวลชนกรณีค่าเงินบาทอ่อนค่าค่อนข้างรุนแรง ว่าจะมีมาตรการเข้าไปดูแลหรือไม่

ดอลลาร์แข็งค่า 15% กดค่าเงินเอเชียอ่อนค่า

โดย ธปท. ได้ให้คำตอบว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินผันผวนสูงขึ้น เป็นเพราะตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นกว่าเดิมในระยะถัดไป

แต่ต้นปี – ปัจจุบัน ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าไปแล้วกว่า 14.6% เป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้สกุลเงินในภูมิภาค รวมถึงค่าเงินบาทของประเทศไทยอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา

และยังไม่เห็นสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ โดยนับตั้งแต่ต้นปี นักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิในสินทรัพย์ของไทยประมาณ 1.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตลาดหลักทรัพย์กว่า 1.6 แสนล้านบาท แต่ขายสุทธิเล็กน้อยในตลาดพันธบัตรที่ 700 ล้านบาท

ทุนสำรองไทยลดลง 1.3 ล้านล้านบาท

ธปท. พูดถึงเรื่องนี้ว่า การที่เงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง นั้นส่งผลให้มูลค่าของเงินสำรองระหว่างประเทศของหลายประเทศได้มีการปรับลดลง

โดยที่ประเทศไทย มีการปรับลดลงของเงินสำรองฯ จาก 2.78 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 10 ล้านล้านบาท) ในช่วงต้นปี ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ระดับ 2.4 แสนล้าน (ราว 8.8 ล้านล้านบาท) โดยลดลงไปแล้วประมาณ 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือลดลงมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การลดลงของเงินสำรองฯ เป็นผลจากการตีมูลค่าทุนสำรองฯ ที่อยู่ในสินทรัพย์หลายสกุลเงินให้เป็นเงินดอลลาร์ แต่ด้วยเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้สินทรัพย์สกุลอื่นเมื่อตีเป็นรูปดอลลาร์ มีมูลค่าลดลง ซึ่งปกติในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์ผันผวนสูง ก็จะเห็นมูลค่าทุนสำรองฯ ของไทยผันผวนสูงขึ้นตามไปด้วย

3 ปัจจัยที่ทำให้ทุนสำรองไทยลดลงอย่างไว

ธปท. เคลียร์ความเข้าใจผิดในเรื่องที่ ‘เงินทุนสำรองฯ ลดลงอย่างมาก เพราะต้องใช้พยุงค่าเงินบาท’ นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของทุนสำรองฯ มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ

  1. ผลตอบแทนการลงทุน
  2. การตีมูลค่าสินทรัพย์ (Valuation)
  3. การดำเนินนโยบายค่าเงินของ ธปท.

โดยการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนสำรองฯ ตอนนี้ เกิดจากการตีมูลค่าสินทรัพย์กลับมาอยู่ในรูปดอลลาร์เป็นหลัก เพราะดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งทุนสำรองฯ ประเทศอื่นก็ลดลงเหมือนกัน

แบงก์ชาติมั่นใจไม่ซ้ำรอยวิกฤตปี 40

ะปท.ยืนยันการที่เงินทุนสำรองฯ ที่ลดลงจะไม่กระทบเสถียรภาพการเงินไทยจนเกิดวิกฤตแบบปี 40’ แน่นอน เพราะการเงินไทยแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2540 เหตุผลดังนี้

  • ทุนสำรองฯ ตอนนี้อยู่ที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่าปี 2540 ที่ 9 พันล้านดอลลาร์
  • ทุนสำรองฯ ต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นตอนนี้ที่มากกว่า 3.2 เท่า จากปี 2540 ที่ 0.7 เท่า และสูงกว่ามาตรฐานสากลที่ต้องมากกว่า 1 เท่าเป็นอย่างน้อย
  • ทุนสำรองฯ ต่อมูลค่าการนำเข้าตอนนี้ก็สูงกว่า 9.4 เท่า จากปี 2540 ที่ 5 เท่า และสูงกว่ามาตรฐานสากลที่ต้องมากกว่า 3 เท่าเป็นอย่างน้อย

นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะขาดดุลราว 1.5% ก่อนกลับมาเกินดุล 0.9% ตามลำดับ เทียบกับปี 2538 และ 2538 ที่ขาดดุลหนักถึง 8% และ 9% ตามลำดับ ส่วนมาตรฐานสากล ระบุให้ขาดดุลไม่เกิน 2%

ที่มา : workpointtoday

แท็กที่เกี่ยวข้อง
Facebook
Twitter
LinkedIn