ลองลงทุนแฟรนไชส์ – ธุรกิจแฟรนไชส์ คืออะไร ?

ธุรกิจแฟรนไชส์ คืออะไร

ธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchies) เป็นรูปแบบการขยายธุรกิจและช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าวิธีหนึ่ง เจ้าของธุรกิจที่ต้องการขยายสาขาจะเปิดให้ผู้ที่มีความต้องการลงทุนในธุรกิจแต่ไม่อยากเริ่มต้นเองตั้งแต่ต้น สามารถเข้ามาซื้อ “สิทธิ์” ของกิจการที่เปิดขายแฟรนไชส์ได้ โดยผู้ที่ขายสิทธิ์จะถูกเรียกว่า แฟรนไชส์ซอร์ (Frachisor) และผู้ที่มาซื้อสิทธิ์เรียกว่า แฟรนไชส์ซี (Franchisee) 

การขายสิทธิในลักษณะแฟรนไชส์ ผู้ขายจะต้องส่งมอบเครื่องหมายการค้า ระบบการบริหารจัดการ การดำเนินงานของธุรกิจ ความเชี่ยวชาญ(Know how) ที่ใช้ในการดำเนินกิจการ หรืออาจรวมถึงสินค้าและบริการด้วยเช่นกัน รายละเอียดเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและรูปแบบการขายแฟรนไชส์ ส่วนผู้ที่ซื้อสิทธิ์ไปจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้าหรือที่เรียกว่า Franchies fee รวมถึงค่า Royalty fee ในสัดส่วนตามที่ตกลงกัน และจะต้องดำเนินการภายใต้กฎและข้อบังคับที่ได้ตกลงไว้ร่วมกันในระหว่างทำสัญญาด้วยเช่นกัน

ประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์

1.แฟรนไชส์ธุรกิจ (Business for Franchises)

เป็นประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์ที่พบเห็นได้มากที่สุด ผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิ์จะส่งมอบสินค้าและบริการ ระบบบริหารจัดการภายในร้าน รวมถึงเครื่องหมายการค้าของธุรกิจให้แก่ผู้ที่มาขอซื้อแฟรนไชส์ และอาจมีส่วนเสริมต่าง ๆ ที่เจ้าของแฟรนไชส์มอบให้เพิ่มเติมเพิ่อสร้างมาตรฐานของแต่ละสาขาให้เสมอกัน เช่น คอร์สฝึกอบรม , ระบบ Pos , คู่มือปฎิบัติงาน เป็นต้น ส่วนมากแฟรนไชส์ประเภทนี้มักจะพบได้ในธุรกิจร้านอาหาร 

ตัวอย่างแฟรนไชส์ประเภทธุรกิจ 

  • ร้านสะดวกซื้อ 7 – 11 
  • KFC
  • Cafe Amazon

2.แฟรนไชส์ผลิตภัณฑ์ (Product and Brand Franchises)

เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของแฟรนไชส์ที่พบเห็นได้มากเช่นกัน เจ้าของสิทธิ์จะให้สิทธิ์ผู้มาซื้อแฟรนไชส์นำตัวสินค้าและบริการของตนไปจัดจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของตน โดยที่เจ้าของสิทธิ์จะทำหน้าที่ผลิตและส่งต่อตัวสินค้าให้แก่ผู้มาซื้อสิทธิ์นำไปจัดจำหน่ายต่อ  แฟรนไชส์ประเภทนี้มักจะมีขนาดเล็ก ใช้เงินลงทุนต่ำ สามารถเริ่มต้นได้ง่าย

ตัวอย่างแฟรนไชส์ประเภทผลิตภัณฑ์

  • ซุ้มขายลูกชิ้นหรือไส้กรอกทอด
  • ร้านเครื่องดื่มชานมไข่มุกขนาดเล็ก
  • ตัวแทนจัดจำหน่ายรถยนต์

3.แฟรนไชส์การผลิต (Manufacturing Franchises)

รูปแบบแฟรนไชส์ประเภทนี้มักเป็นการควบรวมระหว่างภาคธุรกิจด้วยกันเอง (ฺBusiness to business) ผู้ซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์จะได้รับสิทธิ์ในการผลิตสินค้าหรือชิ้นส่วนของสินค้าและเครื่องหมายการค้าเพื่อนำไปจัดจำหน่ายต่อ 

ตัวอย่างแฟรนไชส์ประเภทการผลิต

  • โรงงานผลิตเครื่องดื่ม
  • โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

ข้อดี-ข้อเสียการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์

ข้อดี

  • ขยายสาขาได้รวดเร็ว
  • มีมาตราฐานสินค้าและบริการในระดับเดียวกันทุกสาขา
  • ส่งต่อความสำเร็จให้แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจ
  • สะดวกสำหรับผู้ที่อยากจะเริ่มต้นธุรกิจแต่ยังไม่มีประสบการณ์
  • มีเจ้าของแฟรนไชส์ทำการตลาดส่งเสริมการขายให้

ข้อเสีย

  • ชื่อเสียงของแฟรนไชส์ไม่สามารถการันตีความสำเร็จได้เสมอไป
  • ไม่มีอิสระในการบริหารจัดการ
  • กำไรที่เกิดขึ้นต้องแบ่งให้กับเจ้าของแฟรนไชส์ตามสัดส่วนที่กำหนดไว้

ที่มา : fantasticfranchise.com, merchantmaverick.com, thaifranchisecenter.com, sme.go.th, upcounsel.com

แท็กที่เกี่ยวข้อง
Facebook
Twitter
LinkedIn