หากใครได้ติดตามข่าวช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าจะต้องทำให้หายคอแห้งได้บ้าง เมื่อ Elon Musk นักธุรกิจ(นักปั่น)เจ้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ออกมาประกาศยกเลิกข้อตกลงการเข้าซื้อกิจการของ Twitter ที่ตัวเองเป็นคนสร้างขึ้นเองซะอย่างงั้น
เชื่อว่าข่าวนี้น่าจะสร้างความงุนงงให้แก่ใครหลายคนอยู่ไม่น้อย แต่ส่วนใครที่ลืมไปแล้วว่าที่มาที่ไปของเรื่องนี้เป็นอย่างไร วันนี้ลองลงทุนจะมาเล่าเรื่องตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ว่าเหตุการณ์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร แถมท้ายด้วยบทวิเคราะห์เล็ก ๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้
จุดเริ่มต้น
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เข้าซื้อหุ้นของกิจการ ทวิตเตอร์ (Twitter) เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีข่าวว่าตอนนี้เขาได้ซื้อหุ้นเพิ่มอีก 73,486,938 หุ้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 96,930 ล้านบาท ซึ่งทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของอีลอน มัสก์ ในทวิตเตอร์นั้นคิดเป็น 9.2% ของบริษัท ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของทวิตเตอร์
ก่อนหน้านี้อีลอนมีแผนการสร้างโซเชียลมีเดียใหม่ของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว โดยตั้งใจจะสร้างให้อยู่ในรูปแบบของแพลตฟอร์ม open souce คือเปิดให้เป็นสาธารณะ ผู้คนสามารถเข้ามาร่วมแก้ไขออกแบบโปรแกรมร่วมกันได้ วัตถุประสงค์เพื่อการสร้างความโปร่งใส เพิ่มพื้นที่เสรีให้แก่ผู้ใช้งาน และจะลดการโฆษณาออกจากแพลตฟอร์ม ซึ่งความเห็นของ อีลอน มัสก์ ในขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับมุมมองของ ทวิตเตอร์ ที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คนผ่านการลบบัญชีผู้ใช้งานออก ซึ่ง อีลอน มัสก์ ก็ได้โพสต์ทวิตเตอร์ ถามเกี่ยวกับเรื่องราวนี้ว่าตัวเขาควรทำอย่างไร แต่เมื่อถูกเชิญให้เข้ามาเป็นหนึ่งในกรรมการผู้บริหารของทวิตเตอร์อีลอนกลับปฏิเสธ จึงทำให้ผู้ต่างสงสัยถึงการกระทำของเขาในครั้งนี้
ข้อเสนอที่ดีที่สุด
ต่อมาไม่นาน ในวันที่ 13 เมษายน 2565 อีลอน มัสก์ ทำหนังสือส่งถึง เบรต เทย์เลอร์ (Bret Taylor) หนึ่งในผู้บริหารของทวิตเตอร์ เรื่องการเข้าซื้อกิจการของทวิตเตอร์ในจำนวนหุ้น 100% โดยอีลอน มัสก์ให้เหตุผลว่าเขาเชื่อมั่นเรื่องการแสดงออกอย่างเสรีและเขามองเห็นศักยภาพของทวิตเตอร์ที่จะกลายเป็นบริษัทระดับโลกที่เปิดกว้างให้ผู้คนได้แสดงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ส่วนเรื่องราคาที่อีลอน มัสก์ เสนอให้แก่ทางทวิตเตอร์นั้นอยู่ที่ 54.20 ดอลลาร์สหรัฐ/หุ้น ซึ่งสูงกว่าราคาหุ้นของทวิตเตอร์ที่ขายอยู่ในตลาด ณ ตอนนั้นถึง 54% ก่อนจะจบจดหมายด้วยข้อความทิ้งท้ายไว้ว่า “นี้เป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดและถือเป็นข้อเสนอสุดท้ายที่เขาสามารถให้ได้ หากทางทวิตเตอร์ยังไม่ยินยอม เขาจำเป็นต้องพิจารณาบทบาทของตัวเองในฐานะผู้ถือหุ้นใหม่อีกครั้ง ทวิตเตอร์มีศักยภาพมหาศาล ผมจะเป็นคนปลดล็อคมันเอง”
คำตอบของ Twitter
หลังจากที่มีข่าว อีลอน มัสก์ ประกาศขอซื้อกิจการ ทีมบอร์ดบริหารของทวิตเตอร์ในช่วงแรกมีทีท่าว่าจะปฏิเสธ เพราะมองว่าการจะเข้าซื้อครั้งนี้เป็นการเข้าครอบงำธุรกิจแบบไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover) จึงได้ออกมาตราการ Poison Pill วางยาพิษแก่ผู้ที่พยายามจะเข้ามาซื้อหุ้นบริษัทมากกว่า 15%
แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ ทวิตเตอร์ได้ออกมาประกาศยอมรับข้อเสนอซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัทในราคาหุ้นละ 54.20 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 44,000 ล้านดอลลาร์ นาย เบรต เทล์เลอร์ กล่าวว่าบอร์ดได้หาลือกันอย่างรอบด้านและเห็นว่าแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ดีที่สุดแล้ว
ภาพเหตุการณ์ปัจจุบัน
ดังรายละเอียดที่ลองลงทุนได้นำเสนอข่าวการล้มเลิกการเข้าซื้อกิจการ Twitter ของ Elon Musk
โดยในวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทนายความของ อีลอน มัสก์ ได้ส่งจดหมายถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (ก.ล.ต.สหรัฐฯ) ชี้แจงกรณีการขอยุติข้อเสนอซื้อกิจการของ ทวิตเตอร์ โดยให้เหตุผลว่าทาง ทวิตเตอร์ นั้นไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้เซ็นสัญญาไว้ร่วมกันโดยไม่ยอมส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีปลอมให้แก่ อีลอน มัสก์ ทราบ
ด้าน เบรต เทย์เลอร์(Bret Taylor) ผู้บริหารของทวิตเตอร์ออกมากล่าวว่า บอร์ดผู้บริหารของทวิตเตอร์ได้ตกลงกันแล้วว่าหาก อีลอน มัสก์ ไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงที่เราได้เซ็นสัญญาไปแล้ว จะดำเนินการตามกฎหมายแก่ อีลอน มักส์ ซึ่งอาจจะทำให้อีลอนต้องจ่ายค่าผิดสัญญากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 36,000 ล้านบาท
บทวิเคราะห์
สื่อหลายรายลงบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับการยกเลิกข้อตกลงในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น Econimic times หรือ Yahoo finance ต่างลงความเห็นว่า “ทวิตเตอร์มีความได้เปรียบทางกฎหมายมากกว่า อีลอน มัสก์” มองว่าข้ออ้างที่อีลอน มักส์กล่าวหาทวิตเตอร์ว่าไม่ยอมส่งข้อมูลบัญชีปลอมมาให้แก่ทางอีลอนดูนั้นไม่เป็นเหตุเป็นผล
Elon musk – Twitter และ SCBX – Bitkub ความเหมือนที่แตกต่าง
ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือ อีลอน มัสก์ แอบมาอ่านข่าวที่ประเทศไทยกันแน่ เพราะสถานการณ์การเข้าซื้อบริษัทยักษ์ใหญ่ของบ้านเราตอนนี้ก็ส่อแววล้มเช่นกัน กรณีของ SCBX ที่ประกาศซื้อหุ้นของ ฺBitkub 51% รวมมูลค่ากว่า 17,850 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นาย อาทิตย์ นันทวิทยาประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SCBX ได้ชี้แจงว่า “ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการสอบทานธุรกิจ และระหว่างการหารือกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยมีจะขยายเวลาการเข้าทำธุรกรรมออกไปจากกำหนดการเดิมอย่างไม่มีกำหนด”