จับตาดู!! การปรับ ‘ราคาบ้าน’ ในครึ่งปีหลังกับ การแบกต้นทุนของอสังหาฯและ ‘เงินเฟ้อ’ ที่พุ่งขึ้น 7-10%

 

ผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ประกาศปรับขึ้นราคาบ้าน สิ้นเดือน มิถุนายน อย่างน้อย 5% ตามเงินเฟ้อ หลังเจอกับราคาต้นทุน วัสดุก่อสร้าง เหล็ก ,ปูนซีเมนต์ ,กระเบื้อง และสีทาอาคาร ราคาพุ่งสูงอย่างมาก ขณะ REIC ชี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ความเห็นขัดแย้งกัน การปรับดอกเบี้ยเป็นอีกหนึ่งตัวแปรใหญ่ที่ต้องจับตา

‘เงินเฟ้อ’ เดือนพฤษภาคม ตัวเลขพุ่งสูงทั่วโลก รวมไปถึง ประเทศไทย 7.1% สูงสุดในรอบ 13 ปี เงินเฟ้อที่เกิดต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ปัญหาการนำเข้า – ส่งออก ต้องหยุดชะงักเพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระที่สูงขึ้นได้ เพราะ ราคาน้ำมัน เป็นตัวแปรใหญ่นั้น กำลังเกิดผลกระทบอย่างชัดเจนในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย

เมื่อผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย เผชิญกับต้นทุน กลุ่มวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงสุด อาจฉุดการฟื้นตัวด้วย ‘ราคาบ้าน’ ที่แพงขึ้น

การก่อสร้างที่เผชิญกับต้นทุนวัสดุราคาสูง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC เผยว่าอัตราเงินเฟ้อ ที่พุ่งสูงขึ้นมาก มีผลกระทบกับต้นทุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของไทย เป็นแรงกดดันใหญ่ของการฟื้นตัวของอสังหาฯไทย เพราะ ทั้งราคาที่ดิน ราคาวัสดุก่อสร้าง รวมถึงต้นทุนแรงงานที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม

โดยเฉพาะ วัสดุก่อสร้าง 4 ประเภท ได้แก่

  1. เหล็ก ราคาเหล็กทรงยาว และทรงแบนไทย ปีนี้ มีแนวโน้มอยู่ที่ 30.2 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 19% และ 36.3 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 15% ตามลำดับ
  2. กระเบื้อง หลังการนำเข้ามีการชะลอตัว เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่า และค่าขนส่งที่แพง
  3. สีทาอาคาร โดยผู้ผลิตเผชิญกับราคาวัตถุดิบ จำพวกสารสี ส่งผลต่อราคา
  4. ปูนซีเมนต์ ราคาปีนี้ มีแนวโน้มสูงขึ้น 8% มาอยู่ที่ 1,753 บาท/ตัน

การปรับราคาบ้านมีสิทธฺปรับขึ้นถึง 5%

สอดคล้อง การประเมินของค่ายใหญ่ นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ซึ่งระบุว่า อสังหาฯ กำลังได้รับผลกระทบ ด้านต้นทุนการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย เนื่องจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้น ส่งผลให้เกิด ภาวะ ‘เงินเฟ้อ’ และยังส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างปรับสูงขึ้นมากกว่าปี 2564 อีกด้วยโดยผู้พัฒนาฯ บ้านแทบทุกระดับ ได้รับผลกระทบ ไปทั่วไม่ต่างกัน กับการแบกรับต้นทุนสูงขึ้นราว 7-10% ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา

ช่วงครึ่งปีหลัง ตั้งแต่ สิ้น มิ.ย.เป็นต้นไป คาดว่า อาจจะได้เห็นภาพ ผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ประกาศปรับขึ้นราคาบ้านอย่างต่ำ 5% โดยอาจทำให้การซื้อ-ขาย หยุดชะงักได้ ฉะนั้น เป็นเรื่องหนักใจของผู้พัฒนาฯ อยู่เช่นกัน

“นาทีนี้ยังมั่นใจได้ว่า ตลาดบ้านแพง บ้านลักชัวรี ยังไปได้อยู่ แม้มีปัญหาเรื่องต้นทุนการพัฒนาที่แพงขึ้นมา แต่โอกาสขอปรับขึ้นราคายังสามารถทำได้ ต่างจาก บ้านราคาถูก ที่ขณะนี้ ปัญหา รีเจ็กต์ แบงก์ปฎิเสธสินเชื่อยังสูง และผู้ซื้ออ่อนไหวต่อเรื่องราคา การปรับขึ้น5% จะเป็นปัญหาแน่นอน”

ปรับดอกเบี้ยฉุดคนซื้อบ้าน

ขณะความน่ากังวลของตลาดที่อยู่อาศัยไทย ในระยะข้างหน้านั้น  ยังเกิดขึ้น จากกรณี ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติที่ขัดแย้ง ต่อการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% ซึ่งคาดกันว่า ในการประชุมครั้งหน้า อาจมีความเป็นไปได้ ที่จะประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่ำ 0.25% เพื่อใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับปัญหา เงินเฟ้อ สูงที่สุดในรอบ 13 ปี

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. (REIC) เผย ‘ฐานเศรษฐกิจ’ ว่า นอกจาก ราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับราคาสูงขึ้น บวกกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้การก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยล่าช้า กระทบแผนการส่งมอบ มีผลต่อภาพรวมการโอนกรรมสิทธิ์แล้ว และภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ท่ามกลางรายได้ที่ฟื้นตัวช้า แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามนโยบาย ในระยะข้างหน้าที่จะกดดันดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้น อาจทำให้กระทบต่อตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่วางแผนจะซื้อบ้าน อาจชะลอระยะเวลาออกไปก่อน

” มติของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ล่าสุด มีปัจจัยภายนอกกดดันสูง เป็นไปได้ที่อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ราวสัก 50 สตางค์ในปีนี้ ซึ่งหากขึ้นไประดับนั้นจริง อาจจะกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัย ทำให้ผู้ซื้อมีภาระเพิ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ก่อนหน้า คาดว่าทั้งปี 2565 จะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 170,843 หน่วย มูลค่ากว่า 5.94 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7%

ที่มา : thansettakij

แท็กที่เกี่ยวข้อง
Facebook
Twitter
LinkedIn