ทำไมประเทศไทยไฟฟ้าแพง?

 

กันยายน – ธันวาคม ปี 2565 นี้ จะเข้าสู่ช่วงเดือนที่ค่าไฟฟ้าของประเทศไทยถูกปรับให้เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง  จากมติคณะประชุมสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือกกพ. เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่อนุมัติให้ปรับค่าไฟฟ้าผันแปร(ค่าFt) ขึ้น 68.66 สตางค์/หน่วย ในรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม ปี 2565 ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย

ถือเป็นครั้งที่ 3 แล้วสำหรับปี 2565 ที่มีการปรับค่าไฟฟ้าเกิดขึ้น โดยครั้งแรกปรับขึ้นในช่วงเดือนมกราคม – เดือนเมษายน ครั้งที่สองคือช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม และรอบล่าสุดในเดือนกันยายนถึงสิ้นปี 2565 นี้

สาเหตุหลักของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในแต่ละครั้งสำนักงานกกพ. ชี้แจงว่า เกิดจากภาระต้นทุนค่าพลังงานที่สูงมากขึ้นใน 4 ปัจจัยได้แก่ ปริมาณก๊าซในประเทศที่ลดลง , กำลังการผลิตก๊าซจากพม่าลดลง , ผู้ผลิต LNG ชะลอการลงทุน และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้รัสเซียลดการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังยังยุโรปกระทบต่อราคาก๊าซในตลาดโลก

แต่นี้เป็นเหตุผลทั้งหมดที่ทำให้ค่าไฟฟ้าของประเทศไทยแพงรึปล่าว บทความนี้จะพาผู้อ่านของลองลงทุนทุกคนร่วมค้นหาคำตอบไปด้วยกัน

โครงสร้างค่าไฟไฟฟ้าไทยประกอบด้วยค่าอะไรบ้าง ?

ก่อนที่เราจะไปหาสาเหตุที่มาที่ไปว่าทำไมค่าไฟฟ้าถึงแพง เรามาเริ่มต้นดูที่กันส่วนประกอบของค่าไฟฟ้าในประเทศไทยกันก่อนดีกว่าว่า แต่ละหน่วยที่เราถูกเรียกเก็บอยู่ทุกเดือน ๆ นั้น เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนใดบ้าง

โครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศไทยมีองค์ประกอบด้วยกันอยู่ 4 องค์ประกอบ

  1. ค่าไฟฟ้าฐาน

เป็นส่วนของต้นทุนการผลิตและจัดหาไฟฟ้า รวมถึงต้นทุนค่าโรงงานผลิต ค่าสายส่ง สายจำหน่าย ฯลฯ ต้นทุนทั้งหมดจะถูกคิดภายใต้สมมติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้า เช่น ที่อยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก กิจการขนาดใหญ่ เป็นต้น โดยค่าไฟฟ้าฐานจะมีการคิดปรับปรุงใหม่ทุก 3 – 5 ปี

  1. ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)

เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ค่าไฟฟ้าผันแปรจึงเข้ามาทำหน้าที่ช่วยปรับปรุงค่าไฟให้สะท้อนราคาต้นทุนของปัจจัยต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับที่กำหนดไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน เช่น ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า หรือผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐ เป็นต้น โดยจะมีการปรับปรุงทุก 4 เดือน ที่เราเห็นว่าค่าไฟมีการปรับขึ้นบ่อยครั้ง ก็เกิดจากการปรับปรุงในส่วนของค่าไฟผันแปรส่วนนี้

  1. ค่าบริการ

เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนการให้บริการไฟฟ้า เช่น การจดหน่วย การจัดพิมพ์ จัดส่งบิลและบริการอื่น ๆ

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

หลังจากคำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วก็จะนำทั้งหมดมารวมกันเพื่อคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Vat อีก 7%

พลังไฟฟ้าของไทยมีแหล่งที่มาจากไหน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้บริหารจัดการไฟฟ้าของประเทศไทย ใช้วิธีการสรรหาพลังงานไฟฟ้าเพื่อนำกลับมาตอบสนองต่อปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการผลิตเอง การรับซื้อจากเอกชน และการนำเข้าจากต่างประเทศ

ข้อมูลจากเว็บไซต์กฟผ. ระบุว่า ในปีพ.ศ.2564 ทางกฟผ. มีกำลังการผลิตและรับซื้อไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 194,868.69 ล้านเมกะวัตต์ โดยเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังน้ำ 4,485.81 ล้านเมกะวัตต์ พลังงานความร้อน 18,261.34 เมกะวัตต์ พลังความร้อนร่วม 38,127.04 เมกะวัตต์ ดีเซล 0.1 ล้านเมกะวัตต์ อื่น ๆ 80.48 ล้านเมกะวัตต์ และที่เหลือเป็นการรับซื้ออีก 133,913.92 ล้านเมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้เป็นพลังงานไฟฟ้าที่ทางกฟผ.ผลิตเอง 46,682.37 ล้านเมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 35% จากพลังงานไฟฟ้าที่มีทั้งหมด ส่วนจำนวนที่เหลือเกิดจากการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนกว่า 100 บริษัท และการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณะรัฐประชาชนลาว และมาเลเซีย

หรือที่ค่าไฟแพง เป็นเพราะไฟฟ้าของเราขาดแคลน ?

หากดูรายละเอียดจำนวนการผลิตและซื้อพลังงานไฟฟ้าของกฟผ. และตัวเลขความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปี 2564 จะพบว่าความจริงแล้วไม่ใช่ว่าไฟฟ้าของประเทศไทยเราไม่เพียงพอ แต่ตรงกันข้าม กำลังการผลิตและการซื้อไฟฟ้าของกฟผ.มีมากกว่าความต้องการการใช้ไฟฟ้าสูงสุดถึง 54% โดยในปี 2564 การผลิตและซื้อไฟฟ้าของกฟผ. อยู่ที่ 194,868.69 ล้านเมกะวัตต์ แต่ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดมีอยู่เพียงแค่ 30,135.30 เมกะวัตต์เท่านั้น

ไฟฟ้าเหลือใช้ขนาดนี้ แล้วทำไมค่าไฟถึงยังแพง

นอกจาก 4 ปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้ต้องปรับขึ้นค่าพลังงานไฟฟ้าที่สำนักงานกกพ. ได้ให้เหตุผลไว้แล้วในข้างต้น ยังมีการวิเคราะห์ถึงปัญหาการทำงานและการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าของกฟผ. และรัฐบาลอีกดังนี้

  1. ปัญหาโรงไฟฟ้าเอกชนเกินความต้องการ

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ สอบ. ได้แสดงความคิดเห็นไว้เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 ว่า

“สาเหตุหลักส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเป็นเพราะปัญหาการวางแผนการผลิตไฟฟ้าในประเทศที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าเอกชนเกินความต้องการอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า การมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากถึงร้อยละ 40 – 60 ภาระส่วนนี้จะถูกแปลงออกมาเป็นค่า FT และจะถูกนำมาบวกรวมเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชน

เมื่อมีการตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าในประเทศมากเกินไป จนทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นเกินความต้องการ ประกอบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ หรือโควิด-19 ที่ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาพรวมในประเทศลดน้อยลง ขณะที่ ยังมีโรงไฟฟ้าบางส่วนไม่ได้เดินหน้าผลิตไฟฟ้า แต่รัฐยังคงต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายตามสัญญา จึงทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น”

  1. การเลือกรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มีราคาแพง

จากบทความเดียวกัน รองเลขาธิการ สอบ. ยังกล่าวต่อว่า “อีกสาเหตุ คือ การที่กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เลือกสนับสนุน และซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กแทนโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เดินหน้าผลิตไฟฟ้า ทั้ง ๆ ที่การซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กนั้นมีราคาสูงถึง 4 บาท และยังมีปริมาณการรับซื้อที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อีกด้วยนั้นเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่า FT สูง

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าโรงไฟฟ้าขนาดเล็กใช้พลังงานหมุนเวียน แต่ในความเป็นจริงกลับใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงถึงประมาณร้อยละ 40 – 50 เมื่อใช้ก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันมีราคาสูงมากมาเป็นเชื้อเพลิงย่อมทำให้อัตราการซื้อไฟฟ้าสูงขึ้นและค่า FT ขยับสูงตาม ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้านี้เช่นกัน”

  1. กฟผ. ผูกขาดการให้บริการไฟฟ้าเพียงผู้เดียว

ระบบไฟฟ้าของไทยถูกบริหารจัดการโดยกฟผ. ที่เป็นผู้ผลิตและจัดหาไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว เมื่อผลิตและจัดหาได้แล้วจากนั้นจึงจำหน่ายให้แก่กฟภ. และกฟน. เพื่อให้นำมาขายต่อให้แก่ประชาชน ทำให้ประชาชนไม่มีอำนาจต่อรองราคาค่าไฟฟ้าได้เลย

  1. มาตราการจูงใจการผลิตไฟฟ้าใช้เองไม่มากพอ

ปัจจุบันระบบการผลิตโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) สามารถนำมาทำเป็นโครงการโซลาร์ภาคประชาชนได้ แต่ปัญหาที่พบ คือ ระบบไม่เอื้อ ไม่สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนได้มากพอ เพราะรัฐกำหนดเพดานการรับซื้อโซลาร์เซลล์ทั่วประเทศ เพียงปีละไม่เกิน 10 เมกะวัตต์เท่านั้น นอกจากนี้ อัตราค่ารับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา คือ 2.20 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ขณะที่ ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นเป็น 4 บาทต่อหน่วยแล้ว จะเห็นว่าประชาชนอยู่ในภาวะที่ขาดทุน

บทวิเคราะห์จาก อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)

ค่าไฟฟ้าไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

เมื่อเราได้ทราบข้อมูลไฟฟ้าในประเทศกันเลย ทีนี้เรามาลองดูข้อมูลค่าไฟฟ้าของต่างประเทศกันบ้างว่าแต่ละประเทศมีค่าไฟอยู่ที่หน่วยละเท่าไหร่ (ข้อมูลค่าไฟที่อยู่อาศัยเดือน ธันวาคมปี 2564)

ค่าไฟฟ้าไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน

  • ลาว                1.402         บาท/กิโลวัตต์
  • เวียดนาม        2.909         บาท/กิโลวัตต์
  • อินโดนีเซีย        3.526         บาท/กิโลวัตต์
  • ไทย                3.777         บาท/กิโลวัตต์
  • กัมพูชา                5.386         บาท/กิโลวัตต์
  • ฟิลิปปินส์        5.903         บาท/กิโลวัตต์
  • สิงคโปร์                6.716         บาท/กิโลวัตต์

ค่าไฟฟ้าในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเจริญเติบโต

  • อังกฤษ                 11.824        บาท/กิโลวัตต์
  • เยอรมนี                12.132 บาท/กิโลวัตต์
  • ญี่ปุ่น                8.121        บาท/กิโลวัตต์
  • จีน                2.872        บาท/กิโลวัตต์
  • รัสเซีย                2.830         บาท/กิโลวัตต์
  • เกาหลีใต้         3.628         บาท/กิโลวัตต์

โดยประเทศที่มีค่าไฟถูกที่สุดได้แก่

  • ซูดาน                 0.055        บาท/กิโลวัตต์

และประเทศที่มีค่าไฟแพงที่สุดได้แก่

  • เดนมาร์ก        13.987        บาท/กิโลวัตต์

ข้อมูลจาก globalpetrolprices

แท็กที่เกี่ยวข้อง
Facebook
Twitter
LinkedIn