นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า เผย จากสถานการณ์ที่ต้นทุนการผลิตเหล็กเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น ราคาของวัตถุดิบ พลังงาน และยิ่งโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง ค่าแรง รวมทั้งได้รับผลจากการทุ่มตลาดของสินค้านำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กนั้นอยู่ในอัตราที่ต่ำเพียง 30% เป็นเหตุให้ผู้ผลิตเหล็กจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้า เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ
ซึ่งราคาเศษเหล็กที่เป็นวัตถุดิบในการใช้ผลิตเหล็กเส้นในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 658 เหรียญสหรัฐต่อตัน มีการปรับขึ้น 42% จากปี 2564 ที่เดิมมีราคาอยู่ที่ 464 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ประกอบกับค่าไฟฟ้า ซึ่งใช้เป็นพลังงานหลักในการหลอมเศษเหล็กได้ปรับขึ้นเช่นกัน จึงส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 700-800 บาทต่อตัน โดยต้นทุนด้านพลังงานนั้นส่งผลกระทบทั่วทุกธุรกิจ
แม้กระทั้งผู้ผลิตเหล็กหลักของโลกอย่างประเทศตุรกี ก็ได้ประกาศขึ้นราคาเหล็กตันละ 20-40 เหรียญสหรัฐแล้ว รวมทั้งการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น
นายประวิทย์กล่าวว่า “ที่ผ่านมาผู้ผลิตสินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต จะถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายในสายตาของผู้รับเหมาจากการปรับราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2564 แต่เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ แล้วจะพบว่าสินค้าเหล็กเส้นฯของไทยมีราคาต่ำกว่าสินค้าของประเทศอื่นมาก เช่น ในช่วงกลางปี 2564 สิงคโปร์ ราคาเหล็กเส้นอยู่ที่ 738 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตรุกี มีราคาเหล็กเส้น 740 เหรียญสหรัฐต่อตัน และ จีน มีราคาเหล็กเส้น 852 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ ไทย เสนอขายที่ 699 เหรียญสหรัฐต่อตัน และในยุคโควิดขณะที่ประเทศอื่นประสบปัญหาไม่สามารถนำเข้าสินค้า สินค้าขาดแคลน และมีราคาสูงเกินจริง แต่ประเทศไทยยังมีผู้ผลิตภายใน คานอำนาจสินค้านำเข้าได้ จึงไม่ประสบกับปัญหาเหมือนกับประเทศต่างๆ”
และ นายประวิทย์ ได้มีการกล่าวเสริมว่า การปรับราคาเพิ่มขึ้น อาจมีผลกระทบต่อผู้รับเหมาก่อสร้างได้ โดยผู้รับเหมาสามารถทำสัญญาระยะยาวกับผู้ผลิต หรือยี่ปั๊ว ในการซื้อสินค้าสำหรับงานนั้นๆ รวมถึงพิจารณาถึงการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่มา : matichon