1.การสูบกัญชา
ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป การสูบกัญชา ไม่มีความผิด แต่การสูบกัญชาในที่สาธารณะ รบกวนสิทธิผู้อื่น มีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท
ทั้งนี้ การสูบกัญชาในที่สาธารณะ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมโดยตรงเช่น บุหรี่ ที่มี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ควบคุมอยู่
2.การมีกัญชาในครอบครอง
การมีพืชกัญชาไว้ในครอบครอง หรือปลูกกัญชา ไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าใด ก็ไม่มีความผิด แต่การมี ใช้ จำหน่าย สารสกัดจากกัญชาที่มีปริมาณสาร THC เกินกว่า 0.2% ไม่มีใบอนุญาต ไม่มีใบสั่งแพทย์ ไม่ผ่านการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือเป็นสารสกัดจากกัญชานั้นมีแหล่งที่มาจากนอกราชอาณาจักร ยังถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย เมื่อตำรวจตรวจพบ จะยังไม่ดำเนินคดีในทันที
3.การปลูกกัญชาและจำหน่าย
ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2565 ประชาชนปลูกเพื่อใช้เอง รวมทั้งผู้ประกอบการที่ปลูกในเชิงพาณิชย์ ต้องจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” หรือ ทางเว็บไซต์ http://plookganja.fda.moph.go.th ที่ อย. จัดทำขึ้น โดยทำใน 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1. ลงทะเบียน
2. จดแจ้งตามวัตถุประสงค์
3. รับเอกสารจดแจ้งอิเล็กทรอนิกส์
ประชาชนจดแจ้งเพื่อปลูกในครัวเรือนกี่ต้นก็ได้ แต่ต้องขอให้สอดคล้องกับพื้นที่บ้าน ส่วนหากปลูกในเชิงพาณิชย์ปลูกเป็นอุตสาหกรรมต้องขออนุญาต
***สำหรับ กัญชา ห้ามจำหน่ายในคน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
- หญิง/สตรีมีครรภ์
- หญิงให้นมบุตร
- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
การจำหน่ายกัญชาแบบถูกกฎหมาย
- การจำหน่ายส่วนของพืชกัญชา ไม่ต้องขอรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
- การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์และกิ่งพันธุ์ต้องขอรับอนุญาตตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518
- การจำหน่ายสารสกัดที่ได้รับอนุญาตให้สกัดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
- กรณีเป็นสารสกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2 % ไม่ต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ
- สารสกัดที่มี THC เกิน 0.2 % ต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และผู้ซื้อต้องมีใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษด้วย
- การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น
กัญชา กัญชง ที่ใช้ในอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่ายถูกกฎหมาย
- กัญชา กัญชง และสารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อผลิตจำหน่าย ต้องเป็นเฉพาะส่วนของพืชที่กำหนดในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
- กัญชา กัญชง ที่ใช้ในอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่ายถูกกฎหมาย ได้แก่ เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน รากและใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
- ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้ประโยชน์จากสารสกัด CBD ผู้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหารหรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร
- เงื่อนไขชนิดอาหาร ปริมาณ THC และ CBD และแสดงคำเตือนเป็นไปตามที่ประกาศกำหนด
- ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย ต้องดำเนินการยื่นขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหารและเลขสารบบอาหารด้วย