สำนวนสุภาษิตของไทยที่ว่า “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” ที่สอนเรื่องการคบคนอย่างไรเราจะกลายไปเป็นคนอย่างนั้น ดูจะไม่ใช่คำสอนโบราณ ๆ ที่ถูกสอนต่อกันมาในวิชาภาษาไทยอีกต่อไป เมื่อวารสารวิชาการอย่าง Nature ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ที่ศึกษาเรื่อง “ทุนทางสังคมและผลการเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจ” และพบว่า เด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมหรือละแวกบ้านที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าบ้านตนเอง ในอนาคตเมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้นและเข้าสู่วัยทำงาน เขาจะสามารถหารายได้ได้มากกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน 20%
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นของ Raj Chetty และ Nathaniel Hendren นักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และทีมผู้ศึกษาอีกจำนวนหนึ่ง โดยคณะผู้ศึกษาชุดนี้ได้ทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อที่ว่า “Social capital : measurement and associations with economic mobility” ซึ่งเกี่ยวกับทุนทางสังคมและการปีนบันไดฐานะทางเศรษฐกิจ
ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลกว่า 2.1 พันล้านความสัมพันธ์บนเครือข่ายเฟสบุ๊ค(Facebook) นำมาแยกศึกษาในปัจจัยต่าง ๆ เพื่อหาว่าปัจจัยใดเป็นทุนทางสังคมที่มีผลช่วยในการก้าวข้ามสถานะทางสังคมได้ โดยกลุ่มผู้วิจัยได้แบ่งปัจจัยในการศึกษาออกเป็น 3 ปัจจัย ได้แก่
- รหัสไปรษณีย์ของบ้านที่อาศัย
2.ความกว้างขวางของกลุ่มเพื่อนในเครือข่าย
3.การมีส่วนร่วมต่อสังคม เช่น อัตราการเป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมเพื่อสังคม
ผลการวิจัยพบว่า ทั้ง 3 ปัจจัยที่ใช้ศึกษานี้ เมื่อนำไปศึกษาในแต่ละพื้นที่ก็จะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไปอย่างมาก และไม่เชื่อมโยงกันเท่าไหร่นัก ผู้วิจัยจึงทดลองศึกษาข้ามพื้นที่ (ปัจจัยที่อยู่ไปรษณีย์) จึงพบว่าปัจจัยนี้มีนัยสำคัญขึ้นมาเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่น เด็กที่บ้านมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ แต่หากไปเกิดและเติบโตในสภาพแวดล้อมพื้นที่ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังสูงกว่าบ้านของตน ในอนาคตเมื่อโตขึ้น เขาจะสามารถหารายได้ได้มากกว่าเพื่อนถึง 20%
นับเป็นงานวิจัยที่ช่วยมายืนยันให้เห็นถึงความสำคัญของผู้คนรอบตัวเราได้เป็นอย่างดี เคยมีคำพูดที่ว่า เราอยากเป็นคนอย่างไร ให้ไปอยู่ใกล้ ๆ กับคนแบบนั้น งานวิจัยชิ้นนี้ช่วยให้เห็นแล้วว่า หากเราอยากมีฐานะที่ดีขึ้น หรืออยากประสบความสำเร็จ การเลือกคบคนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยทำให้ฝันเราเป็นจริงได้เหมือนกัน
ที่มา nature