รูเบิล ของรัสเซีย แข็งค่าต่อ +20% กลายเป็นสกุลเงินที่แข็งที่สุดในโลกปีนี้ มากกว่าดอลลาร์

 

รัสเซียในวันนี้มีสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 10 ปี เป็นผลของมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตก หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022

แต่ยังคงมีสิ่งที่ยังดำเนินไปได้ โดยสวนทางกับสภาพตกต่ำของเศรษฐกิจในประเทศ นั่นคือค่าเงินรูเบิลของรัสเซียที่ฟื้นตัวกลับมาจนแข็งค่ากว่าเมื่อตอนก่อนรัสเซียบุกยูเครน

โดยที่ช่วงก่อนรัสเซียบุกยูเครน ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ประมาณ 87.37 รูเบิล ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากรัสเซียบุกยูเครน ค่าเงินรูเบิลร่วงลงอย่างหนัก เคยร่วงไปจนถึง 143 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

แต่เมื่อเข้าสู่กลางเดือนมีนาคม รูเบิลเริ่มฟื้นตัวมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งมาถึงกลางเดือนมิถุนายน ค่าเงิน ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2022 อยู่ที่ 58.12 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

การฟื้นตัวของเงินรูเบิล

มีหลายปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินรูเบิลฟื้นกลับขึ้นมา ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนในตลาดเงินมองว่าการฟื้นตัวของรูเบิลส่วนหนึ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่มาจากนโยบายของรัฐบาลรัสเซีย และอีกส่วนมาจากสเกลของการส่งออกสินค้าของรัสเซียที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงการคว่ำบาตรที่ขัดขวางการนำเข้า ขณะที่การส่งออกสินค้าได้ราคาสูงขึ้น ก็มีผลให้ค่าเงินรูเบิลแข็งขึ้น

– มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนของรัสเซีย

นักวิเคราะห์มองว่าปัจจัยสำคัญคือ มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน (capital Control) ป้องกันเงินไหลออกจากประเทศ ช่วงแรกของสงคราม ชาวรัสเซียถูกควบคุมด้านการเงินเข้มงวด เช่น

  1. ห้ามการชำระหนี้ต่างประเทศ
  2. ห้ามโอนเงินไปบัญชีธนาคารในต่างประเทศ
  3. ห้ามถอนเงินสกุลต่างประเทศ
  4. ห้ามธนาคารขายเงินสกุลต่างประเทศให้ลูกค้า

– การขึ้นดอกเบี้ย

เป็นอีกมาตรการสำคัญที่รัสเซียใช้ก็คือ การที่ธนาคารกลางรัสเซียขึ้นดอกเบี้ยจาก 9% มาอยู่ที่ 20% ในช่วงต้นของการบุกรัสเซีย เป็นการจูงใจให้ประชาชนออมเงินและถือเงินรูเบิลไว้ เพื่อรักษาปริมาณเงินรูเบิลในประเทศ แต่เพียงไม่นานอัตราดอกเบี้ยก็ถูกปรับลดลง

และนอกจากมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินออกนอกประเทศ รัสเซียยังกำหนดให้ต่างชาติที่ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียต้องจ่ายเป็นเงินรูเบิลของรัสเซียเท่านั้น และกำหนดให้บริษัทที่มีรายได้จากการส่งออกและการทำธุรกิจในต่างประเทศ ต้องแปลงเงินจากสกุลเงินต่างประเทศมาเก็บเป็นรูปแบบสกุลเงินรูเบิลสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้อีกด้วย

มาตรการเข้มงวดเหล่านี้ได้ผลดี ส่งผลให้รูเบิลกลายเป็นค่าเงินที่มีสถานะดี ถึงขั้นที่สื่อการเงินอย่าง Bloomberg และ Wall Street Journal บอกว่าเงินรูเบิลเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งแกร่ง-มีประสิทธิภาพดีที่สุดอันดับต้นๆ ของโลกในปีนี้

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่เกิดขึ้นถูกมองว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ กิจการแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างๆ หยุดการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินสกุลรูเบิล เพราะมองว่าค่าเงินรูเบิลในช่วงเวลานี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และไม่สามารถซื้อขายได้ในโลกความเป็นจริง

ผลเสียของเงินรูเบิลแข็งค่า

การที่เงินรูเบิลแข็งค่านั้น ส่งผลเสียต่อสังคมรัสเซียมากกว่าผลดี เพราะโดยปกติแล้วค่าของสกุลเงินต่างๆ จะขึ้นหรือลงตามเศรษฐกิจ แต่ในกรณีของรัสเซีย นั้นขึ้นอยู่กับความพยายามของรัฐบาลทำให้ค่าเงินสูงจนเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ปกติแล้ว การที่สกุลเงินของประเทศไหนแข็งค่าขึ้นจะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อในประเทศนั้น เพราะสามารถนำเข้าได้ในราคาที่ถูกลง แต่กลไกนี้ไม่มีผลต่อรัสเซีย เพราะรัสเซียโดนคว่ำบาตร จึงนำเข้าน้อยอยู่แล้ว ภาวะเงินเฟ้อในรัสเซียจึงเพิ่มขึ้น เป็นเพราะการขาดแคลนสินค้า

– ภาวะเงินเฟ้อในรัสเซียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมมีรายงานว่าภาวะเงินเฟ้อในรัสเซียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเกิดภาวะขาดแคลนสินค้า ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ค่าจ้างงานไม่ได้สูงขึ้นตามราคาสินค้า นั่นหมายความว่า แม้ค่าเงินรัสเซียแข็งแกร่ง แต่ประชาชนในรัสเซียก็ต้องประสบปัญหาค่าครองชีพไม่ต่างจากคนในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

– GDP ของรัสเซียลดลง

เงินรูเบิลที่แข็งค่ากระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของรัสเซีย และทำให้เกิดความกังวลว่ามันจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล แล้วส่งผลให้มีปัญหาในการใช้งบประมาณเมื่อถึงคราวที่รัฐบาลต้องการจะใช้เงินสดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของรัสเซียในปีนี้จะลดลงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่านั้น

– ความน่าเชื่อถือต่อระดมทุนและกู้ยืมต่ำลง

ผลกระทบอีกส่วนหนึ่งจากมาตรการที่รัฐบาลห้ามชำระหนี้ต่างประเทศ ส่งผลกระทบให้ในอนาคตรัสเซียจะระดมทุนและกู้ยืมเงินจากต่างประเทศยากขึ้น เพราะมีประวัติการผิดชำระหนี้ ทำให้ระดับความน่าเชื่อถือต่ำลงมาก

– บริษัทพลังงานรัสเซียรายได้ลดลง

และอีกภาคส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบคือบริษัทพลังงานรัสเซีย ซึ่งต้องรับเงินจากการขายพลังงานเป็นเงินสกุลเงินรูเบิลตามคำสั่งของรัฐบาล แต่ราคาพลังงานในตลาดโลกนั้นกำหนดราคาในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น เมื่อแปลงเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นรูเบิลตามที่รัฐบาลรัสเซียกำหนด บริษัทพลังงานจึงมีรายได้น้อยลง ตามค่าเงินรูเบิลที่แข็งขึ้น

ทั้งนี้ หลังจากปกป้องค่าเงินได้ผลตามที่ตั้งเป้าแล้ว รัฐบาลรัสเซียก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมลงไปบ้างแล้วในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อย่างเช่น ที่กำหนดให้ภาคธุรกิจต้องแปลงรายได้จากสกุลเงินต่างประเทศมาเก็บเป็นรูปแบบสกุลเงินรูเบิล 80% ของรายได้ ก็ผ่อนคลายลงเป็น 50% ของรายได้

หากจะสรุปตามที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแสดงความเห็นกันก็คือ เงินรูเบิลที่ว่าแข็งแกร่งนั้น รัฐบาลรัสเซียต้องแลกด้วยทุนสำรองจำนวนมหาศาล และไม่สมควรที่จะพูดว่าเงินรูเบิลแข็งค่ากว่าตอนก่อนรัสเซียบุกยูเครน

ที่มา : plus.thairath

แท็กที่เกี่ยวข้อง
Facebook
Twitter
LinkedIn