ร้านค้าปลีก-บริการ ขาดแคลนแรงงานหนัก เจอปัญหาแก้ไม่ตก ขึ้นค่าแรงไม่ใช่ทางออก!!

 

ถ้าพูดถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป อาจจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจอยู่บ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 5-8% ตามอัตราที่คณะกรรมการไตรภาคีกำหนด

และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น จะสะท้อนจากภาพของการประกาศรับสมัครงานของหลาย ๆ ธุรกิจ ที่ให้ค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 2 เท่าตัว

ธุรกิจขาดแคลนแรงงานมากขึ้น

จากสถานการณ์การจับจ่ายที่เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากโควิด-19 ที่คลี่คลาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคตั้งแต่ระดับกลาง-บน เริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติและออกมาจับจ่าย สะท้อนจากภาพบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านอาหาร ภัตตาคารต่าง ๆ ที่มีทราฟฟิกและมีความคึกคักมากขึ้น แต่ธุรกิจค้าปลีก-บริการ มีปัญหาเรื่องหาคนทำงานได้ยากมากขึ้นและยิ่งเป็นธุรกิจในกรุงเทพฯและปริมณฑลยิ่งหายาก

และตอนนี้แม้คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบการปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำไปแล้ว 5-8% ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ แต่ธุรกิจค้าปลีก-บริการมีปัญหาเรื่องหาคนทำงานได้ยากมากขึ้น

นอกจากหาคนยากแล้ว พนักงานที่เข้ามาก็จะมีการเทิร์นโอเวอร์สูง เชื่อว่าในระยะยาว หากปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข จะกระทบกับการขยายธุรกิจ ขยายสาขา ในอนาคต ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะปัจจุบันคนรุ่นใหม่ต้องการทำอาชีพอิสระ มองว่า บริการเป็นงานหนัก

หากสังเกตจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา ร้านอาหารรายใหญ่ได้เริ่มทยอยนำหุ่นยนต์มาช่วยในการเสิร์ฟ หรือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เพื่อทำงานทดแทนแรงงานคน หรือร้านสะดวกซื้อในย่านแหล่งธุรกิจ (ซีบีดี) ก็หาคนทำยาก

โดยที่นอกจากหุ่นยนต์แล้ว แรงงานต่างด้าวอาจจะเป็นทางออกอีกอย่างหนึ่งสำหรับธุรกิจบริการ แต่เนื่องจากตอนนี้กฎหมายแรงงานยังไม่อนุญาต กฎหมายอนุญาตให้ทำได้เฉพาะอยู่หลังร้าน เช่น ล้างจาน เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อบรรเทาปัญหาให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจอาจจะต้องมีการหารือและผลักดันการแก้กฎระเบียบหรือออกประกาศของกระทรวงแรงงานมาช่วย

ร้านอาหาร-บริการแก้ไม่ตก

“บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ ร้านอาหารญี่ปุ่นมากมาย ยอมรับว่าขณะนี้ ร้านอาหารต่าง ๆ ยังเจอปัญหาขาดแคลนพนักงานบริการค่อนข้างมาก

โดยเฉพาะพนักงานเสิร์ฟที่มีการเทิร์นโอเวอร์สูง ทำให้บริษัทต้องบริหารจัดการร้านอาหารที่ต้องใช้พนักงานจำนวนมาก เช่น เซ็น และอากะ ที่เป็นร้านประเภทบุฟเฟต์ ด้วยการปรับโมเดลร้าน โดยใช้ระบบ self service ให้ลูกค้าเดินไปตักอาหารเอง ควบคู่กับการใช้หุ่นยนต์

ปัจจุบันร้านในเครือมีหุ่นยนต์ 60 ตัว กระจายใช้ในบางสาขาที่มีทราฟฟิกมาก จากเดิมที่หนึ่งสาขาจะใช้พนักงานราว ๆ 40 คนขึ้นไป ซึ่งการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยลดคนได้ 5-10%

ไม่เว้นแม้แต่ร้านกาแฟที่อยู่ในระดับกลางรายหนึ่งให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ตอนนี้การขาดแรงงานยังเป็นปัญหาของร้านกาแฟเช่นกัน และพนักงานมีการเทิร์นโอเวอร์ค่อนข้างสูงเช่นกัน และบางครั้งต้องนำพนักงานที่ออกไปแล้วกลับมาช่วยทำ เพราะหาคนมาทำงานได้ยาก หามาได้ก็อยู่ได้ไม่นาน

แม้แต่ร้านกาแฟรายใหญ่เองก็มีการประกาศรับสมัครงานเป็นจำนวนมาก ทั้งบาริสต้า ผู้จัดการสาขา ซึ่งก็ต้องแข่งกับร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ค้าปลีกรายใหญ่ ที่ยังเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มต่อเนื่อง

หุ่นยนต์จะทำงานแทนคนในอนาคต

“โดยในส่วนของเครือสหพัฒน์เอง เมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมามีการนำเทคโนโลยีระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการผลิตอยู่บ้างแล้ว และต่อจากนี้ไปอาจได้เห็นมากขึ้น และต้องมาคำนวณว่าการลงทุนในออโตเมชั่น ถ้าเทียบกับค่าแรงจะคุ้มค่าหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่คุ้มอยู่แล้ว เพียงแค่ต้องทำให้คุ้มมากขึ้นเท่านั้นเอง ดังนั้นจากนี้ไปจะเห็นการใช้ออโตเมชั่นในโรงงานการผลิตมากขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่ได้ผลระยะยาว” เวทิต โชควัฒนา ผู้บริหารสหพัฒน์กล่าว

อาจกล่าวได้ว่า ภาพที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น

โดยที่ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งระดมความคิดเพื่อหาทางออก หาทางแก้ไขก่อนจะสายเกินแก้

ที่มา : prachachat

แท็กที่เกี่ยวข้อง
Facebook
Twitter
LinkedIn