4 กลยุทธ์การลงทุนจากลองลงทุนเพื่อรับมือภาวะเงินเฟ้อ

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและยุทศาสตร์การค้าได้เปิดเผยตัวเลขสรุปดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนมิถุนายนปี 2565 โดยมีตัวเลขที่ทุกคนจับตามองนั้นก็คืออัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปของประเทศไทย ผลที่ออกมานั้นปรากฎว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.66% ซึ่งสูงขึ้นจากเดือนที่แล้วที่อยู่ที่ 7.1% โดยถือเป็นค่าสูงที่สุดในรอบ 14 ปีที่ผ่านมา ท่านผู้อำนวยการสำนักงานแจ้งว่า ปัจจัยหลักนั้นมาจากราคาของสินค้าในกลุ่มพลังงานเช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม เป็นต้น สอดคล้องกับตัวเลขเงินเฟ้อทั่วโลกที่ต่างปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่เงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 6% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2% ที่ประเทศตุรกี 78.6% ที่ศรีลังกา 54.6% และที่สหรัฐอเมริกาที่ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤภาคม 2565 อยู่ที่ 8.6% 

 

ด้วยสถาณการณ์เงินเฟ้อที่สูงอย่างในปัจจุบัน ลองลงทุนจึงได้รวบรวมวิธีการลงทุนที่สอดคล้องกับกระแสเงินเฟ้อนำมาฝากผู้ติดตามทุกท่าน 4 กลยุทธิ์ด้วยกัน ดังรายละเอียดด้านล่างนี้

4 กลยุทธ์การลงทุนจากลองลงทุนเพื่อรับมือภาวะเงินเฟ้อ

1. หลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ประเภท “ตราสารหนี้” 

ตราสารหนี้เป็นตราสารทางการเงินประเภทหนี่ง ใช้เพื่อการหาแหล่งเงินทุนในกรณีที่ผู้ออกตราสารมีความจำเป็นต้องใช้เงินสด หากผู้ออกตราสารเป็นรัฐบาลจะเรียกตราสารชนิดนี้ว่าพันธบัตรรัฐบาล แต่หากผู้ออกตราสารเป็นเอกชนจะเรียกว่าหุ้นกู้ โดยผู้ที่ออกตราสารหนี้และผู้ที่เข้ามาลงทุนนั้นจะมีพันธะสัญญาระหว่างกันในลักษณะของเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผู้ที่ออกตราสารมีสถานะคือ ลูกหนี้ ส่วนผู้ที่ซื้อตราสารเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งผู้ออกตราสาร(ลูกหนี้)จะต้องจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือตราสาร(เจ้าหนี้)ในลักษณะของดอกเบี้ยเป็นประจำตามอัตราและระยะเวลาที่จำหนดไว้ และผู้ถือตราสารจะได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดสัญญา

ด้วยลักษณะของตราสารหนี้ที่มีการกำหนดอัตราผลตอบแทนที่ตายตัวอยู่ก่อนแล้ว ในกรณีที่เกิดเงินเฟ้อขึ้น จะทำให้มูลค่าของเงินลดน้อยลง(ในกรณีนี้ได้แก่มูลค่าของหนี้ลดน้อยลง) ส่งผลให้ประโยชน์นั้นตกไปอยู่ที่ลูกหนี้หรือผู้ออกตราสารที่มีมูลค่าของหนี้ที่ต้องจ่ายลดลง ส่วนเจ้าหนี้หรือผู้ถือครองตราสารนั้นก็จะได้รับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่แท้จริงจาการลงในมูลค่าที่ลดน้อยลงด้วยเช่นกัน

2. ลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe haven)

ตัวอย่างของสินทรัพย์ประเภทนี้เช่น ทองคำหรือที่ดิน เป็นต้น โดยทองคำนั้นเปรียบเหมือนสกุลเงินหลักของโลก มีความเป็นสากลและมีมูลค่าโดยทั่วไป ส่วนที่ดินนั้นก็มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เป็นสินค้าที่มีความต้องการและราคาเพิ่มสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา 

ข้อดีของสินทรัพย์ประเภทนี้คือไม่มีความสัมพันธ์หรือเป็นความสัมพันธ์เชิงลบระหว่างตัวสินทรัพย์ต่อระบบเศรษฐกิจตกต่ำ นั้นหมายความว่าต่อให้เศรษฐกิจย่ำแย่แค่ไหน ตัวเลข GDP ตกลงเพียงใด แต่ราคาของสินทรัพย์เหล่านี้ก็จะไม่ตกตามไปด้วย แม้ว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร มูลค่าของทองคำและที่ดินก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป (ยกเว้นในกรณีเลวร้ายมาก ๆ อย่างสงครามโลกที่อาหารอาจเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด)

3. ลงทุนในบิทคอยน์ (สำหรับชาว bitcoiner)

ชาว Bitcoiner นั้นเชื่อว่าการนำความมั่งคั่ง(Wealth) ของตนมาเก็บไว้ในรูปแบบของ Fiat Money หรือเงินกระดาษที่ออกและควบคุมโดยรัฐบาลนั้นมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเจ้าของเงินจะไม่สามารถควบคุมความมั่งคั่งของตนเองได้ แต่จะถูกกำหนดโดยการออกนโยบายทางการเงินของรัฐบาลแทน แนวทางนี้อาจจะนำมาซึ่งความสูญเสียของความมั่งคั่งในกรณีที่รัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาดหรือเกิดการคอรัปชั่นภายในได้ เช่นกรณีการพิมพ์ธนบัตรที่มากเกินไปส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ หรือกรณีการบริหารงานที่ผิดพลาดจนทำให้เกิดภาวะ Hyper inflation ของประเทศเวเนซุเอล่า เป็นต้น

4. Wait and see

การลงทุนทุกครั้งควรเกิดจากความตั้งใจและวางแผนการณ์มาอย่างดี ทั้งแผนการเข้าซื้อ เป้าหมายการทำกำไรที่ต้องการ(Take profit) กำหนดความเสี่ยงที่ยอมรับ(Stop loss) รวมถึงการจัดสรรเงินลงทุนที่นำมาใช้ในการลงทุน(Monet management) หากยังไม่มีสิ่งเหล่านี้หรือยังไม่มั่นใจ กลยุทธ์ที่ใช้ได้เสมอไม่ว่าจะกับการลงทุนสินทรัพย์ประเภทใดนั้นคือการ “Wait and see” หรือการถอยออกมาเพื่อรอดูจังหวะอื่น ๆ ที่เหมาะสม ไม่แน่ว่าอาจทำให้ได้เจอกับโอกาสใหม่ที่ดีกว่าเดิมเหมือนอย่างในสุภาษิตไทยที่บอกไว้ว่า “ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม” ก็อาจเป็นไปได้

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
Facebook
Twitter
LinkedIn