กองทุนน้ำมันคืออะไร ช่วยลดราคาน้ำมันแพงได้จริงหรือไม่ ?

กองทุนน้ำมันคืออะไร ช่วยลดราคาน้ำมันแพงได้จริงหรือไม่ ?

กับสถานการณ์น้ำมันที่ผันผวนค่อนข้างสูงอย่างในปัจจุบัน ลองลงทุนได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อราคาน้ำมันในบ้านเราอย่างกองทุนน้ำมันมาให้ทุกคนได้ทราบกันว่าแท้จริงแล้วกองทุนน้ำมันคืออะไร ทำหน้าที่อะไร และการมีอยู่ของกองทุนน้ำมันนี้จะช่วยควบคุมราคาน้ำมันได้จริงหรือไม่ลองลงทุนได้รวบรวมคำตอบมาคลายความสงสัยให้แก่ทุกท่านแล้วผ่านบทความนี้

กองทุนน้ำมันคืออะไร

กองทุนน้ำมันมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” จัดตั้งขึ้นในวันที่ 27 มีนาคม 2522 จากการควบรวมกองทุนรักษาระดับน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนรักษาระดับน้ำมันเชื้อเพลิง(เงินตราต่างประเทศ) เข้าด้วยกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภาวะขาดแคลนน้ำมันและรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ลดความผันผวน และไม่จำเป็นปรับตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันโลกทุกครั้ง โดยจะดำเนินงานภายใต้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐและอยู่ภายใต้การกำกดับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

กองทุนน้ำมันมีที่มาอย่างไร

ในปีพ.ศ. 2516 กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่าง OPEC (Organization of the Petroleum Exporting Countries) และชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเกิดปัญหาระหว่างกัน ทำให้ OPEC ใช้มาตรการคว่ำบาตร ยกเลิกการส่งออกน้ำมันให้แก่สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร เหตุการณ์ดังกล่าวยาวนานยืดเยื้อกว่า 6 เดือน ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันทั่วโลกกระทั่งเกิดเป็นวิกฤตการณ์น้ำมัน (Oil Crisis) ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจาก 3 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 12 ดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า) ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน คณะรัฐมนตรีจึงได้ออก พรก. แก้ไขและป้องกันภาวะขาดแคลนพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ.2516 ขึ้น ซึ่งถือเป็นหมุดหมายแรกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน

ต่อมาในปีพ.ศ. 2520 OPEC ได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบอีกครั้ง รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2520

ปีพ.ศ. 2521 เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงิน ทำให้ผู้นำเข้าน้ำมันได้กำไรในส่วนนี้ไป รัฐบาลมีความเห็นว่าเม็ดเงินนี้ไม่ใช่กำไรที่เกิดจากการดำเนินงาน จึงได้จัดตั้งกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง(เงินตราต่างประเทศขึ้น)ขึ้น ในวันที่ 29 ธันวาคม 2521 เพื่อเรียกเก็บเงินในส่วนนี้แก่ผู้นำเข้าน้ำมัน

และสุดท้ายในปีพ.ศ.2522 ได้เกิดการรวบรวมกองทุนทั้งสองเข้าด้วยกัน เกิดเป็นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นในที่สุด 

หลักการทำงานกองทุนน้ำมันเป็นอย่างไร

ขอบคุณภาพจาก สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้รับรายได้จาก 3 ช่องทาง

  1. จากภาษีศุลกากรที่ได้รับจากกรมศุลกากร
  2. จ่ายภาษีสรรพาสามิตที่ได้รับจากกรมสรรพสามิต
  3. จากผู้รับสัมปทานที่ทำธุรกิจก๊าซจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

ซึ่งรายได้นี้จะนำไปสำรองไว้เพื่อใช้สร้างเสถียรภาพให้แก่ราคาน้ำมันในประเทศไทยยามที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวน เช่นเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นจนทำให้ราคาน้ำมันในบ้านเราต้องปรับตัวขึ้นตาม กองทุนน้ำมันจะใช้เงินในส่วนนี้เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันในประเทศเอาไว้ไม่ให้ผันผวนมากจนเกินไป โดยการไปจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ค้าน้ำมันแทน ส่วนในกรณีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับตัวลดลง กองทุนน้ำมันก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปช่วยพยุงราคา ทำให้ได้รับรายได้จากผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้จำหน่ายและผู้นำเข้าแทน

แล้วการทำอย่างนี้ช่วยลดราคาน้ำมันแพงได้จริงหรือไม่

ต่อไปนี้คือข้อมูลโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทยในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2565 แบ่งตามประเภทของน้ำมันแต่ละประเภทดังนี้

น้ำมันดีเซลราคา ณ วันที่ 8 ก.ค. 2565 อยู่ที่ 34.94 บาท/ลิตร แบ่งเป็น

  • ราคาหน้าโรงกลั่น 32.8258 บาท
  • ภาษีสรรภาสามิต 1.3400 บาท
  • ภาษีเทศบาล 0.1340 บาท
  • กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง -5.5600 บาท
  • กองทุนอนุรักษ์ 0.0050 บาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.0121 บาท
  • ค่าการตลาด 3.9094 บาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มหลังค่าการตลาด 0.2734 บาท

น้ำมันแก๊ซโซฮอล์ 95 E20 ราคา ณ วันที่ 8 ก.ค. 2565 อยู่ที่ 40.44 บาท/ลิตร แบ่งเป็น

  • ราคาหน้าโรงกลั่น 27.1754 บาท
  • ภาษีสรรภาสามิต 5.2000 บาท
  • ภาษีเทศบาล 0.5200 บาท
  • กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง -0.8200 บาท
  • กองทุนอนุรักษ์ 0.0050 บาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.2456 บาท
  • ค่าการตลาด 5.7140 บาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มหลังค่าการตลาด 0.4000 บาท

น้ำมันแก๊ซโซฮอล์ 91 ราคา ณ วันที่ 8 ก.ค. 2565 อยู่ที่ 41.28 บาท/ลิตร แบ่งเป็น

  • ราคาหน้าโรงกลั่น 27.1242 บาท
  • ภาษีสรรภาสามิต 5.8500 บาท
  • ภาษีเทศบาล 0.5850 บาท
  • กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 0.9000 บาท
  • กองทุนอนุรักษ์ 0.0050 บาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.3558 บาท
  • ค่าการตลาด 4.9253 บาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มหลังค่าการตลาด 0.3448 บาท

จะเห็นว่าราคาของน้ำมันบางชนิดนั้นได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคอยประคองราคาไว้ให้ เช่นในกรณีของน้ำมันดีเซลและน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ 95 E20 ที่ได้รับการช่วยเหลืออยู่ลิตรละ 5.5 บาท และ 0.82 บาทตามลำดับ ซึ่งหากขาดการช่วยเหลือในส่วนนี้ไปอาจทำให้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณลิตรละ 40 – 41 บาท ส่วนแก๊ซโซฮอล์จะมีราคาอยู่ที่ประมาณลิตรละ 41 บาท และน้ำมันบางประเภทอย่างเช่นแก๊ซโซฮอล์ 91 เป็นน้ำมันชนิดที่จ่ายเงินให้กับกองทุนน้ำมัน 0.90 บาท/ลิตร จึงสรุปได้ว่าการมีอยู่ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นสามารถช่วยทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้จริง

คำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้

ถึงแม้ว่าการมีอยู่ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเข้ามาช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่ราคาน้ำมันในประเทศได้จริง ช่วยให้ราคาน้ำมันไม่ปรับตัวขึ้นมากในวันที่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นได้จริง แต่หากลองหันกลับมามองที่ประมาณการฐานะทางการเงินของกองทุนน้ำมันรอบล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 65 จะพบว่าขณะนี้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดหนี้เงินชดเชยน้ำมันอยู่ 54,574 ล้านบาท และติดหนี้เงินชดเชยก๊าซ LPG อีก 36,515 ล้านบาท รวมแล้วติดลบอยู่ 91,089 ล้านบาท สถานะการณ์ภายในว่าแย่แล้วยังจะต้องรับมือกับสถานการณ์ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ไม่แน่นอนอย่างในปัจจุบันอีก ตัวเลขหนี้เหล่านี้จะต้องแบกรับไปอีกนานแค่ไหน การจะหาเงินมาจ่ายภาระผูกพันเหล่านี้จะต้องทำอย่างไร หรือราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวกลับมาถูกลงได้อีกครั้งหรือไม่ ทั้งหมดนี้จึงเป็นปัญหาที่ผู้ดูแลอาจต้องทำการบ้านเป็นอย่างหนักเพื่อหาทางรับมือให้ได้ต่อไป

ที่มา : สกนช.  , investerest , eppo

แท็กที่เกี่ยวข้อง
Facebook
Twitter
LinkedIn