ธนาคารแห่งประเทศไทยได้นำร่องธนาคารกลาง พัฒนาสกุลเงินดิจิทัล ทดสอบ Retail CBDC ที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการใช้งานในภาคประชาชนเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าบริการในพื้นที่เฉพาะ และในกลุ่มผู้ใช้งานประมาณ 10,000 ราย เพื่อเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจและประชาชนให้เข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกสบายและมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ต้นทุนที่ลดลง
น.ส.วชิรา อารมย์ดี รองผู้ว่าการ ฝ่ายบริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อให้ประชาชนใช้งาน (Retail Central Bank Digital Currency : Retail CBDC1) เป็นเรื่องที่ธนาคารกลางทั่วโลกให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนา เนื่องจากมีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาระบบการเงินในอนาคต
ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นธนาคารกลางแรกๆ ที่เห็นถึงศักยภาพและความสำคัญของ CBDC ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจและประชาชนในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกสบายและมีความหลากหลายมากขึ้น พร้อมกับต้นทุนที่ลดลง
นอกจากโครงการ Wholesale CBDC ต่างๆ และการทดสอบ Retail CBDC ร่วมกับภาคธุรกิจในห้องปฏิบัติการ (Proof of Concept) แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยยังเห็นความจำเป็นที่จะขยายขอบเขตการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC สู่การใช้งานจริงในวงจำกัด (Pilot) ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประเมินถึงประโยชน์และความเสี่ยง รวมไปถึงการกำหนดนโยบายและปรับปรุงการออกแบบ CBDC ในอนาคต โดยใช้แผนการทดสอบ Retail CBDC ระยะ pilot นี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ
- 1.การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation track) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย โดยจะทดสอบการนำมาใช้ชำระค่าสินค้าบริการในพื้นที่เฉพาะ และในกลุ่มผู้ใช้งานประมาณ 10,000 ราย ที่กำหนดโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนที่ร่วมทดสอบ 3 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งการทดสอบนี้จะนำเทคโนโลยีของบริษัท Giesecke+Devrient มาประยุกต์ใช้ โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566
- 2.การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation track) ด้านความสามารถในการเขียนโปรแกรม (Programmability) ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดบน Retail CBDC ทำให้เกิดบริการทางการเงินใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่หลากหลาย และช่วยให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย นำมาปรับปรุงการออกแบบ CBDC ที่เหมาะสมกับบริบทของไทยในอนาคต ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะเปิดให้ภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมนำเสนอรูปแบบทางธุรกิจ (Use cases) ในการพัฒนาต่อยอด Retail CBDC ผ่านโครงการ “CBDC Hackathon” ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมได้ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม-12 กันยายน 2565 โดยทีมหรือผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบจะได้รับคำปรึกษา (Mentoring) จากสถาบันการเงินที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในโครงการอินทนนท์ 5 (ติดตามรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย)
ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เน้นย้ำว่าการทดสอบ Retail CBDC นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC เพื่อประเมินความเหมาะสมของเทคโนโลยีและการออกแบบ รวมถึงการนำไปต่อยอดบริการให้ประชาชน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ยังไม่มีแผนที่จะออก Retail CBDC เนื่องจากการออก CBDC ต้องพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงอย่างรอบด้านก่อน เพราะอาจจะส่งผลต่อระบบการเงินของประเทศได้
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังเตือนให้ประชาชนให้ระมัดระวังในการแอบอ้างในรูปแบบต่างๆ ว่าสามารถให้บริการ Retail CBDC ได้ หรือหลอกให้ลงทุนใน Retail CBDC ของ ธนาคารแห่งประเทศไทยเนื่องจากการทดสอบนี้จะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ใช้งานที่ถูกระบุไว้ก่อนแล้วเท่านั้น
ที่มา : mgronline