การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบถึงทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเกิดใหม่และประเทศที่เศรษฐกิจมีความเปราะบาง รวมทั้งประเทศไทยเองที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ด้วยเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเช้าวันนี้มูลค่าอ่อนแตะระดับ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติอ่อนสุดในรอบ 16 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
วันที่ 28 ก.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไทยเพิ่มจากเดิมที่ระดับ 0.75% เป็น 1%ต่อปี
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. ออกมาให้เหตุผลในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคของภาคเอกชนที่เริ่มกลับมาคึกคักขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้นยังอยู่ในระดับสูง ส่วนการอ่อนค่าของค่าเงินบาทนั้น กนง. มองว่ายังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับประเทศในภูมิภาค แต่จะยังคงติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสหลายท่านให้ความเห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยจำเป็นต้องมีความสมดุล ทั้งช่วยด้านการสกัดเงินเฟ้อ ไม่กระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และต้องไม่เป็นภาระแก่ประชาชนด้านต้นทุนทางการเงิน เนื่องจากเงินเฟ้อส่วนใหญ่มีเหตุปัจจัยมาจากภายนอก เช่น ค่าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น สินค้านำเข้าที่มีราคาแพงขึ้น ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่ช่วยลดผลกระทบของเงินเฟ้อในส่วนนี้
ส่วนปัญหาด้านเงินบาทอ่อนค่านั้น แม้แนวโน้มจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากทิศทางการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และมุ่งหน้าสู่การทำสถิติใหม่อยู่เสมอนั้น แต่นักวิเคราะห์ก็ยังคงไม่หวั่นใจมากนัก กับสถานการณ์วิกฤตค่าเงินอย่าง “ต้มยำกุ้ง” เหมือนที่ไทยเคยเจอเมื่อครั้งปี 2540
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกบทความในวาระครบรอบ 25 ปี ของวิกฤตครั้งนี้ และชี้แจงถึงความแตกต่างของค่าเงินในปัจจุบันกับครั้งนั้นว่ามาจากสาเหตุที่แตกต่างกัน โดยในครั้งก่อนที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวนั้นเกิดจากการสะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่ไม่แข็งแรงของเศรษฐกิจไทย ณ ขณะนั้น จากทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหลือน้อย ซึ่งแตกต่างกับครั้งนี้ที่การอ่อนค่าของค่าเงินนั้นเกิดขึ้นร่วมกันกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคใกล้เคียง และทุนสำรองของประเทศเองก็ยังคงมีปริมาณมากเพียงพออีกด้วย สะท้อนว่าหน่วยงานของไทยได้รับบทเรียนจากวิกฤตกาลครั้งนั้นแล้ว และสามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ดี
ซึ่งหากเป็นไปตามการคาดการณ์ของหลาย ๆ สำนักจริง และนักท่องเที่ยวสามารถเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวที่บ้านเราได้จริง ก็อาจจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ค่าเงินบาทของไทยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ แต่ส่วนปัจจุบัยภายนอกอย่างการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งมีเป้าหมายจะปรับขึ้นต่อจนถึงปี 2567 และอาจจะเป็นปัจจัยให้เงินไหลกลับสู่อเมริกานั้น เราคงต้องจับตาดูและประเมิณสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดต่อไป