ตามรายงานการให้ข่าวของนาย อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยแทน พล.อ.ประยุทธ์ ที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 65 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยนั้น
“พล.อ.ประยุทธ์ เคารพผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ โดยจะหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยที่จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อไปตามปกติ และในระหว่างนี้ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ จะปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทน และปฎิบัติหน้าที่ร่วมกับคณะรัฐมนตรี โดยมิได้มีผลกระทบอย่างใดต่อการบริหารประเทศ และการปฏิบัติงานของข้าราชการ หรือการดำเนินนโยบายอื่นๆของรัฐบาล”
การรักษาราชการแทนนายกฯ
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 41 และ มาตรา 48 วรรคหนึ่ง กำหนดการรักษาราชการแทนนายกฯ ไว้ว่า
- มาตรา 41 บัญญัติว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ จะต้องให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
- มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ให้ผู้รักษาราชการแทนตามความในพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับตนแทน
เหตุที่ พล.อ.ประวิตร ต้องรักษาการแทน
ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 237/2563 วันที่ 13 สิงหาคม 2563
ว่าด้วยเรื่อง “มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีและมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีรัฐมนตรีประจำสำนักนากรัฐมนตรีไม่อยู่ หรือ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง”
ระบุว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีตามลำดับ ดังนี้
- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
- นายวิษณุ เครืองาม
- นายอนุทิน ชาญวีรกูล
- นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
- นายดอน ปรมัตถ์วินัย
- นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
ซึ่งพล.อ.ประวิตร ได้รับมอบหมายในลำดับที่ 1 จึงปฏิบัติหน้าที่ “รักษาราชการแทนนายกฯ”
อีกอย่างการรักษาราชการแทนนายกฯ นั้น พล.อ.ประวิตร จะสั่งการใดๆ เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ รวมถึงการอนุมัติงบประมาณ ที่อยู่ในอำนาจของ “นายกฯ ตัวจริง” จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก “นายกฯ ตัวจริง (พล.อ.ประยุทธ์)” เสียก่อน
อำนาจของนายกฯ รักษาการ
ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 168 ระบุว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตําแหน่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปภายใต้เงื่อนไขในกรณีที่
- การเป็นนายกฯ ที่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 อาทิ ตาย, ลาออก ,สภาลงมติไม่ไว้วางใจ, ใช้สถานะแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ , ถือหุ้นในเอกชนเกิน 5%
- สภาครบวาระ หรือ ยุบสภา
- ครม.ลาออกทั้งคณะ
- นอกจากเหตุที่ทําให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวแล้ว ความเป็นรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกําหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย (ดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี)
ทั้ง 4 ข้อ รัฐธรรมนูญอนุญาตให้อยู่ “รักษาการ” จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่
อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขการใช้อำนาจ “นายกฯ รักษาการ” เพิ่มเติมในมาตรา 169 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี พ้นตำแหน่งจากการ “ยุบสภา” หรือ “สภาครบวาระ” 4 ปี ไว้ดังนี้
- ไม่อนุมัติงานหรือโครงการ หรือ มีผลสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่กำหนดไว้ตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี
- ไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน ทั้งในหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ เว้นแต่ กกต.อนุมัติ
- ไม่อนุมัติงบประมาณสำรองจ่ายฉุกเฉิน-จำเป็น เว้นแต่ กกต.อนุญาติ
- ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ กระทำอันใดที่มีผลต่อการเลือกตั้ง หรือฝ่าฝืนข้อห้าม ระเบียบของ กกต.
ดังนั้น หากนายกฯ รักษาการในกรณีที่ ไม่ใช่การ “ยุบสภา” หรือ “สภาครบวาระ” เพื่อเลือกตั้งใหม่ นายกฯ รักษาการมีอำนาจเต็มที่ เหมือนนายกฯ ทั่วไป
ตรงข้ามกัน ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ พ้นตำแหน่งครบ 8 ปี ก็จะเป็น นายกฯ รักษาการ มีอำนาจเต็มทุกประการ จนกว่าจะเลือกนายกฯ คนใหม่ มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
ที่มา : prachachat