28 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ออกแถลงผลการประชุมการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย โดยผลการลงคะแนนมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25% ต่อปี ทำให้อัตราดอกเบี้ยเดิมที่เคยอยู่ที่ร้อยละ 0.75% ต่อปี ขยับปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.00% ต่อปี ตามเป้าหมายด้านการรักษาเสถียรภาพราคา ระบบการเงิน ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ผลกระทบที่ตามมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกนง. ในครั้งนี้ ไม่เพียงกระทบต่อตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์และผู้ที่กำลังผ่อนบ้านอยู่ด้วยเช่นกัน ทั้งยอดเงินรวมของการผ่อนชำระที่จะเพิ่มสูงมากขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และระยะเวลาผ่อนที่อาจจะยาวนานขึ้นจากจำนวนงวดที่ที่ผ่อนมากขึ้น
ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้
ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของตัวเองแล้ว ทั้งอัตราดอกเบี้ยจากการฝากเงิน อัตราดอกเบี้ยจากการกู้เงินอย่าง MLR (Minimum Loan Rate) MOR (Minimum Overdraft Rate) หรือ MRR (Minimum Retail Rate) ต่างถูกปรับขึ้นกันอย่างพร้อมหน้า เช่น ธนาคารกรุงเทพที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น 0.15-0.50% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.30-0.40% ต่อปี หรือธนาคารกสิกรไทย ที่ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น 0.10-0.50% อัตราดอกเบี้ยรายเงินกู้ 0.25% และธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น ๆ ที่จะทยอยประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามมา
ผลกระทบต่อผู้ผ่อนบ้านจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
แน่นอนว่าผู้ที่กำลังลังมีความคิดที่อยากจะซื้อบ้านด้วยวิธีการกู้ยืนเงินจากธนาคาร อาจต้องกลับมานั่งคิดทบทวนเพื่อตัดสินใจใหม่อีกครั้ง เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในครั้งนี้ ย่อมส่งผลให้ยอดหนี้จากการกู้ยืมที่ต้องชำระเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงผู้ที่อยู่ในกระบวนการการผ่อนบ้านอยู่แล้วด้วยเช่นกัน อัตราดอกเบี้ยของการผ่อนบ้านโดยทั่วไปที่ธนาคารใช้มักจะเป็นรูปแบบคงที่เพียงแค่ช่วง 3 ปี แรกของสัญญาการผ่อนชำระเท่านั้น ส่วนงวดการผ่อนชำระที่เหลือจะเป็นรูปแบบลอยตัว ซึ่งก็จะถูกปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทางกนง. เพิ่งประกาศใช้ในวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้ยอดหนี้ที่ต้องชำระมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น หรืออาจทำให้การผ่อนชำระหนี้ใช้เวลายาวนานมากยิ่งขึ้น
เว็บไซต์ ddproperty ได้แสดงตัวอย่างการคำนวณผลต่างของยอดรวมหนี้ทั้งหมดที่ต้องชำระ กรณีที่อัตราดอกเบี้ยมีการถูกปรับขึ้นเอาไว้ ซึ่งในการคำนวณจะเป็นการสมมติตัวเลขขึ้นมา โดยมีการใช้ยอดเงินกู้ 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR = 7% ระยะเวลาผ่อน 20 งวด จะต้องผ่อน 7,085 บาทต่องวด แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยถูกปรับเพิ่มขึ้น 1% เป็นค่า MRR = 8% จะทำให้ยอดเงินที่ต้องผ่อนชำระเพิ่มต่องวดเพิ่มขึ้น 375 บาท หรือรวมตลอดสัญญากว่า 90,000 บาทเลยทีเดียว
วิธีการรับมือ
ทางเพจลองลงทุนของเรา เคยนำเสนอเทคนิคการผ่อนบ้านด้วยเทคนิคการผ่อนเพิ่มขึ้น หรือผ่อนเกินจากยอดเงินผ่อนชำระปกติไปแล้ว วิธีนี้จะช่วยทำให้ประหยัดทั้งดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายและช่วยให้ปิดบ้านได้เร็วขึ้นด้วย เป็นเทคนิคการปิดบ้านที่เร็วและง่ายที่สุดที่ทุกคนสามารถทำได้ และยังมีวิธีอื่น ๆ อีกอย่างเช่น การรีไฟแนนซ์ การโปะเพิ่มทุกปี หรือการใช้โปรโมชั่นใหม่ ๆ ที่ธนาคารมักจะมีออกมาตามเทศกาลต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ผ่อนชำระปลดหนี้ได้เร็วขึ้น ช่วยทำให้ความฝันที่บ้านที่ควรจะเป็นของเรา ได้กลายเป็นของเราจริง ๆ เสียที